สายตาผิดปกติ เกิดจากแสงผ่านกระจกตาและเลนส์ตาตกไม่พอดีที่จอประสาทตา แบ่งเป็น สายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด สายตาเอียง สามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่แว่น, คอนแทคเลนส์ และ เลนส์เสริม (ICL)
ปัญหาสายตาผิดปกติ (สั้น ยาว เอียง)
ทำไมต้องเป็นฉันที่สายตาสั้น? อยากเล่นกีฬา ทำกิจกรรม Adventure อยากถ่ายรูปสวยๆ จะทำอะไรก็ลำบาก มิหนำซ้ำ ยังแว่นหัก แว่นหายอีก แล้วสายตา สั้นยาว สายตาเอียง เกิดจากอะไร? เราจะสามารถป้องกันได้หรือไม่ หลายคนที่เข้ามาพบหมอ มาด้วยความรู้สึกนี้ และบางท่านที่เป็นคุณแม่ย่อมอยากจะทราบว่า เราจะป้องกันให้กับลูกของเราได้ไหม?
แน่นอนว่า คุยกับหมอเปาย่อมมีทางออกค่ะ ในตอนท้าย หมอจะมาสรุปว่า เราจะช่วยลูกของเราได้อย่างไร? ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจธรรมชาติของภาวะสายตาผิดปกติ สั้น ยาว เอียงกันก่อนค่ะ
สายตาสั้น ยาว เอียงเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดค่ะ ค่าก็จะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยค่าสายตามักจะเริ่มคงที่ตอนอายุ 18 ปี และถ้าหากไม่มีโรคกระจกตาโก่ง ค่าสายตาก็มักจะหยุดแน่ละตอนอายุไม่เกิน 25 ปีค่ะ
คนที่สายตาสั้น มากกว่า 800 อาจมีส่วนสัมพันธ์กับพันธุกรรม ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับสายตาปกติและ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงกันนะคะ
สายตาปกติ เป็นผลของการที่แสงโฟกัสผ่านกระจกตา (Cornea) และเลนส์แก้วตา (Crystalline Lens) ไปตกพอดีที่จอประสาทตา (Retina) ทำให้ภาพที่เรามองเห็นมีความคมชัด ถ้าการรวมแสงของตาไม่พอดีกับความยาวลูกตา ก็จะเกิดภาวะสายตาผิดปกติ ซึ่งแบ่งเป็น
1. สายตาสั้น (Near-sightedness หรือ Myopia)
สายตาสั้นเกิดจากกำลังการรวมแสงของตามากเกินไป เมื่อเทียบกับความยาวของลูกตา เมื่อมองวัตถุที่อยู่ไกลแสงรวมก่อนถึงจอประสาทตา ทำให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลไม่ชัดเจน ผู้ที่มีสายตาสั้นสามารถมองใกล้ได้ชัดกว่ามองไกล การแก้ไขปัญหาสายตาสั้นสามารถทำได้โดยใช้เลนส์เว้า
ภาพแสดงภาวะสายตาปกติ เปรียบเทียบกับภาวะสายตาสั้นและการแก้ไขสายตาสั้น
2. สายตายาวโดยกำเนิด (Far-sightedness หรือ Hyperopia)
สายตายาวโดยกำเนิด เกิดจากกำลังการรวมแสงของตาน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับความยาวของลูกตา แสงถึงจอประสาทตาก่อนรวมเป็นจุดภาพ จะไม่ชัดทั้งใกล้และไกล ผู้ที่มีสายตายาวโดยกำเนิดเล็กน้อย สามารถมองไกลได้ดี แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น หรือมีการเพ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะหรือตาล้าได้ และสูญเสียการมองไกลทำให้มองไกลไม่ชัดเจน การแก้ไขภาวะสายตายาวโดยกำเนิด สามารถทำได้โดยใช้เลนส์นูนเพิ่มกำลังการรวมแสงเพื่อให้สามารถมองเห็นได้ดี
ภาพแสดงภาวะสายตาปกติ เปรียบเทียบกับภาวะยาวโดยกำเนิดและการแก้ไขสายตายาว
3. สายตาเอียง (Astigmatism)
สายตาเอียงเกิดจากกำลังการรวมแสงของตาในแนวต่างๆ ไม่เท่ากัน มักเกิดจากกระจกตาไม่กลม คล้ายลูกรักบี้ ทำให้เห็นภาพซ้อน ผู้ที่มีสายตาสั้นร่วมกับสายตาเอียง จะยังคงมองใกล้ได้ดีกว่ามองไกล แต่ภาพที่เห็นจะไม่ชัดเจนแม้ว่าจะใกล้ก็ตาม การแก้ไขสายตาเอียงโดยการใช้แว่นสายตา จะต้องใช้เลนส์ชนิดพิเศษเรียกว่า เลนส์กาบกล้วย (Cylindrical lens )
4. สายตายาวตามอายุ (Presbyopia)
เกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อตาที่ใช้ในการมองใกล้ มักเริ่มตอนอายุ 38-40 ปี สายตายาวตามอายุจะมีปัญหาในการมองใกล้ เช่น อ่านหนังสือ ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือซึ่งเป็นเลนส์นูนจึงช่วยให้อ่านได้ดีขึ้น และปรับค่าแว่นตาอายุโดยประมาณดังนี้
ตารางแสดงอัตรากำลังแว่นตาแต่ละอายุในเกณฑ์เฉลี่ยตามทฤษฎี | |
อายุ (ปี) | กำลังแว่นตา (diopter) |
38-39 | + 0.75 |
39-40 | + 1.00 |
41-42 | + 1.25 |
43-45 | + 1.50 |
46-47 | + 1.75 |
48-50 | + 2.00 |
51-53 | + 2.25 |
54-55 | + 2.50 |
56-58 | + 2.75 |
59-60 | + 3.00 |
ปัจจุบันสาย ตาผิดปกติ สั้น ยาว เอียง ยังเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้ค่ะ แต่สิ่งที่จะทำได้ให้กับลูกของเราได้ นั่นคือการพาเด็กๆไปตรวจคัดกรองการมองเห็น ตั้งแต่อายุ 4 ขวบค่ะ เพราะเด็กๆ ที่มีสายตาผิดปกติ เกิดมาพร้อมกับการมองเห็นแบบนั้น เขาไม่รู้ตัวเองว่าเขามองเห็นชัดหรือมัว ไม่เหมือนผู้ใหญ่บางท่านอาจเคยมองเห็นชัดพอมัวลงก็จะทราบว่าตัวเองมีการมองเห็นที่เปลี่ยนไป
ดังนั้นจึงเป็นมาตรฐานเลยนะคะว่า “เด็กทุกคนที่อายุ 4 ขวบต้องได้รับการตรวจคัดกรองสายตา” เพราะการมองเห็นเป็น 75 % ของการรับรู้และการเรียนรู้ ซึ่งจะส่งผลต่อเด็กๆ ในแง่ของการเรียนและการประกอบอาชีพในอนาคตค่ะ
แต่หากเราสงสัยความผิดปกติ ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 4 ขวบ เช่น ตาเขตาเหล่ อย่ารอ 4 ขวบนะคะ ต้องรีบแก้ไขก่อนค่ะ เช่น ตาเหล่เข้าแต่กำเนิด ถ้ามีเวลาทองของการแก้ไขภายใน 2 ขวบปีแรกเท่านั้นค่ะ ดังนั้น ตัวเลข 4 ขวบที่หมอเปาเล่าให้ฟังหมายถึงเด็กที่ดูปกติดี ก็จำเป็นต้องคัดกรองสายตานะคะ
และหากลูกของเราได้รับการตรวจพบว่ามีสายตาผิดปกติคุณหมอจะนัดต่อเนื่อง อย่างน้อยประมาณปีละครั้งค่ะ เพื่อปรับแว่นที่เหมาะสมให้กับเด็ก เพราะค่าสายตา จะเปลี่ยนไปตามการเจริญเติบโตของเด็กค่ะ
เอาเป็นว่าแม้นว่าสายตาผิดปกติจะป้องกันไม่ได้ แต่เรา detect ได้เร็วก็ช่วยเหลือลูกเราได้ค่ะ
ส่วนการแก้ไขสายตาผิดปกติในเด็กเราจะใช้แว่นค่ะ เมื่อโตขึ้นก็จะมีทางเลือกอื่นคือการใส่คอนแทคเลนส์ เลสิค และเลนส์เสริม(ICL) ส่วนใครเหมาะกับวิธีไหนก็ขึ้นกับความชอบ ความถนัด Lifestyle การประกอบอาชีพ และงบประมาณ ปัจจุบัน เราทราบกันดีแล้วค่ะว่าการทำเลสิคประหยัดกว่าการใช้แว่นและคอนแทคเลนส์
(การทำเลสิคประหยัดกว่าการใช้แว่นและคอนแทคเลนส์จริงหรือ?)
หากต้องการทราบว่า ใครบ้างที่สามารถทำเลสิค/PRK หรือคลิป VDO วิธีการแก้ไขสายตา ส่วนเลนส์เสริม(ICL) นั้นเรามักจะพิจารณาทำในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่นเนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง ขอให้ทุกคนมีคุณภาพการมองเห็นที่ดี ใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ประหยัด ย่อมเยาและมีความสุขกับการมองเห็นกันถ้วนหน้านะคะ เราดูแลทุกคนดุจญาติมิตรค่ะ สวัสดีค่ะ
พญ.สุจินตนา ตันฑเทอดธรรม (หมอเปา)
จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตา (เลสิค)
ปรึกษาปัญหาสายตาผิดปกติ (สั้น ยาว เอียง) กับหมอเปา
ได้ที่ LINE : @drpaolasik
หรือ โทร.0959502340